คุ้มวงศ์บุรี หรือ บ้านวงศ์บุรี อาคารสีชมพูโดดเด่น อายุกว่า 100 ปี ตั้งอยู่ที่ ถนนคำลือ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ คุ้มวงศ์บุรี สร้างขึ้น ตามดำริของแม่เจ้าบัวถา ชายาองค์แรกในเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่องค์สุดท้าย เพื่อเป็นของกำนัลในการเสกสมรส ระว่างเจ้าสุนันตา ผู้เป็นบุตรีเจ้าบุรีรัตน์ และหลวงพงษ์พิบูลย์ คุ้มหลังนี้อาคารแบบไทยผสมยุโรปสีชมพูอ่อน ซึ่งเป็นสีโปรดของแม่เจ้า บัวถา เป็นเรือนไม้สักทองขนาดใหญ่ 2 ชั้นทรงไทยล้านนาผสมยุโรป ประดับตกตกแต่งลวดลายด้วยไม้ฉลุที่เรียกว่าลาย“ขนมปังขิง” ตามความนิยมกันใน รัชกาลที่ 5 ที่ถูกสร้างไว้อย่างสวยงามอยู่ทั่วตัวอาคาร เช่น หน้าจั่ว สันหลังคา ชายน้ำ ช่องลม กรอบเช็ด หน้าต่าง เหนือประตูและหน้าต่าง ระเบียง ภายในอาคารปรากฎลายพรรณพฤกษาและเครือเถาว์ เป็นต้น ฐานรากของอาคารเป็น ท่อนไม้ซุง เนื้อแข็งขนาดใหญ่วางเรียงกันก่อนจะก่ออิฐเทปูนทับลงไป เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของอาคาร คุ้มวงศ์บุรี ประกอบด้วย ห้องที่น่าสนใจ คือ ห้องของเจ้าบัวถา ห้องรับแขก ห้องนอน ซึ่งแต่ละห้องมีข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ อาทิ ตู้ เตียงนอน โต๊ะ เก้าอี้ โต๊ะเครื่องแป้ง ถ้วย ชาม เครื่องเงิน กำปั่นเหล็ก อาวุธโบราณ พระพุทธรูปโบราณสมัยเชียงแสน อู่ทอง รวมถึงรูปภาพเก่าแก่ต่างๆ ที่ประดับบอกเรื่องราวของบ้านหลังนี้
วัสดุหลักในการก่อสร้างอาคารคือไม้สักทองคุณภาพดีที่สุดจากป่าห้วยขมิ้นซึ่งเป็นป่าของเจ้าบุรีรัตน์ บิดาเจ้าสุนันตา แต่เดิม ตัวอาคาร ใช้เทคนิคการเข้าลิ้นสลักไม้ ไม่ตอกตะปูแต่เป็นการตอกลิ่มไม้แทน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเรือนเครื่องสับตามแบบงานช่างไทยโบราณ แต่เดิมหลังคาจะมุงด้วยแป้นไม้เกร็ดซึ่งมีลักษณะเป็นไม้แผ่นเล็กๆวางเรียงซ้อนกัน ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นสังกะสีตามสมัยนิยมและกระเบื้อง ว่าว ตามลำดับ อาคารด้านหลังเป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูงโล่งอันเป็นคุ้มหลังเดิมของแม่เจ้าบัวถา มหายศปัญญา ระหว่างอาคารส่วนหน้า และส่วนหลังมีการเชื่อมต่อด้วย“ชาน” และมีการยกระดับพื้นขึ้นเรียกว่า“เติ๋น”ที่ใช้เป็นส่วนนั่งเล่นพักผ่อนอิริยบท และรับประทานอาหาร
นอกจากนี้ยังมีเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่หาดูได้ยากก็คือ เอกสารการขอสัมปทานป่าไม้ในอดีต ตั๋ว รูปพรรณช้าง โค สัญญาบัตร ที่ได้รับการโปรดเกล้าจากรัชกาลที่ 5 รวมถึงเอกสารการซื้อ-ขาย ทาส ) ที่พบในบ้านวงศ์บุรี มีแม่เจ้าบัวถา และเจ้าน้อยพรม (หลวงพงษ์พิบูล) เป็นนายเงิน(ผู้ซื้อ) โดยมีการซื้อตั้งแต่ ร.ศ.119 (พ.ศ. 2443) ถึง ร.ศ.124 (พ.ศ.2448) รวม 49 ฉบับ ซึ่งเอกสาร ดังกล่าวดูได้เพียงแค่ตาไม่สามารถถ่ายภาพได้
ปัจจุบันภายในคุ้มวงศ์บุรีได้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคล จัดแสดงประวัติความเป็นมาของบ้าน วิถีชีวิตของเจ้านายในอดีต โดยข้าว ของเครื่องใช้ต่างๆล้วนตกทอดลงมากันในตระกูล เปิดทุกวันตั้งแต่เวลา 09.00 – 17.00 น. สำหรับการเข้าชมคุ้มวงศ์บุรีภายใน บ้านเสียค่าเข้าชม 30 บาท ซึ่งบางจุดภายในบ้านสามารถถ่ายภาพได้ แต่บางจุดก็จะไม่อนุญาติให้ถ่ายภาพ ด้วยความสวยงามของ คุ้มวงศ์บุรี จึงได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่น ปี พ.ศ. 2536 ของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ สอบถามรายละเอียด โทรศัพท์ 054 620 153
แหล่งที่มา…..http://www.paiduaykan.com/province/north/phrae/khumwongburee.html